“ฝุ่น” อันตรายที่แฝงอยู่ในระบบอัดอากาศในไลน์ ผลิต อาหาร และ ยา
ฝุ่น หมายถึง อนุภาคที่เป็นทั้งของแข็ง และของเหลว ที่ลอยกระจายอยู่ในอากาศ บางชนิดมีขนาดใหญ่ และดำจนมองเห็นเป็นเขม่าควัน แต่บางชนิดมีขนาดเล็กมาก จนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ฝุ่นละอองที่ลอยอยู่ในอากาศ โดยทั่วไปจะมีขนาดที่แตกต่างกัน ดังนี้
- ฝุ่นขนาดใหญ่ จะมีขนาด 100 ไมครอน
- ฝุ่นหยาบ ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10)
- ฝุ่นละเอียด ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5)
- ฝุ่นละเอียด ขนาดเล็กมาก 0.1 ไมครอน (PM0.1)
โดยปกติฝุ่นขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดของโลก แต่ฝุ่นขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ ฝุ่นชนิดนี้สามารถผ่านระบบการกรองเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และถูกสะสมอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนได้ ส่วนฝุ่นที่มีขนาดเล็กขนาดตั้งแต่ 2.5 ไมครอน ถึงขนาด 0.1 ไมครอน สามารถเข้าไปลึกถึงถุงลมปอดได้ ซึ่งถ้าเข้าไปในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการอักเสบ ระคายเคืองเรื้อรัง เป็นพังผืด หรือรอยแผลในปอดได้
ที่มาของการเกิดฝุ่น
“ฝุ่น” ที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น ฝุ่นดินทราย เขม่าควันจากไฟป่า ละอองเกลือน้ำทะเล และ ฝุ่นที่เกิดมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ได้แก่ การก่อสร้าง ฝุ่นท่อไอเสียรถยนต์ และ จักรยานยนต์ ฝุ่นควันจากปล่องระบายควันจากเตาเผา โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
” ฝุ่น ” ยังสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อีกช่องทางหนึ่ง คือ การบริโภคสินค้าจากโรงงานผลิตที่ไม่ได้มาตรฐานในการตรวจสอบเรื่องของฝุ่นในกระบวนการผลิต หรือ ในไลด์ผลิตสินค้านั้นเอง ตัวอย่างเช่น โรงงานผลิตเวชภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง หากมีฝุ่นหรือสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนลงไปในผลิตภัณฑ์นั้นๆ อาจส่งผลกระทบหรือ ส่งผลอันตรายต่อผู้บริโภค และนำมาซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์
องค์กรมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับโรงงานผลิตอาหาร และ ยา
ในสายงานโรงงานผลิตเวชภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง การปนเปื้อนของฝุ่นในผลิตภัณฑ์ เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และทำให้โรงงานต้องถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ เช่น หน่วยงาน FDA-สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงหน่วยงานการรับรองมาตรฐานในการผลิต จะมีข้อกำหนดต่างๆ ที่เป็นแนวทางปฎิบัติในโรงงานนั้นๆ ที่ต้องการควบคุมให้อยู่ในเกณ์ เช่น
- GMP (Good Manufacturing Practice) คือ ระบบกระบวนการในการผลิตของโรงงาน ไปจนถึงบุคลากรในโรงงาน เพื่อให้การดำเนินงานการผลิตเป็นไปอย่างปลอดภัย ผลิตภัณฑ์ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค จัดทำขึ้นโดยหน่วยงานมาตรฐาน CODEX ที่เป็นหน่วยงานมาตรฐานสากล ได้รับการยอมรับทั่วโลก
- HACCP ( Hazard Analysis Critical Control Point) เป็นมาตรฐานเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค โดยจะให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากการผลิต เจาะจงไปที่การปนเปื้อนในอาหารอย่างเคร่งครัด ต้องใช้ผู้เชียวชาญในการตรวจสอบ
มาตรฐาน GMP และ HACCP ที่กล่าวมานั้น ต่างก็เป็นมาตรฐานสากล มีความน่าเชื่อถือ และ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค หรือพูดง่ายๆว่า “ของมันต้องมี” สำหรับโรงงานผลิตเวชภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง
นอกจากการตรวจสอบระบบมาตรฐานโรงงานทั้งสองระบบที่กล่าวมา ยังมีข้อกำหนดคุณภาพของอากาศอัด ตามหลักเกณฑ์ และกรรมวิธีการผลิต ในภาคอุตสาหกรรมการผลิต เวชภัณฑ์ยา อาหาร เครื่องสำอาง ที่ใช้เป็นมาตรฐานกลางทั่วโลกคือ ISO 8573-1:2010 ที่ว่าด้วยเรื่องของคุณภาพอากาศอัด โดยจำแนกสารปนเปื้อนแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ฝุ่น (Particulate), น้ำ (Water), น้ำมัน (Oil )
การตรวจวัดฝุ่นในภาคอุตสาหกรรม ยา อาหาร เวชสำอาง ตามเกณฑ์การควบคุมมาตรฐาน ISO 8573-1 Class1.2.1 โดยวิธีการวัดสิ่งปนเปื่อน มาตรฐาน ISO 8573-4 วิธีการตรวจวัดปริมาณฝุ่นละออง (Test methods for solid particle content) ตรงกับความบริสุทธ์ Class 1 ซึ่งมีค่าที่ยอมรับได้ดังนี้
- ปริมาณอนุภาคขนาด 0.1-0.5μm จำนวนอนุภาคไม่เกิน 20,000 อนุภาค ต่อปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร
- ปริมาณอนุภาคขนาด 0.5-1.0μm จำนวนอนุภาคไม่เกิน 400 อนุภาค ต่อปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร
- ปริมาณอนุภาคขนาด 1.0-5.0μm จำนวนอนุภาคไม่เกิน 10 อนุภาค ต่อปริมาตร 1 ลูกบาศก์เมตร
และนี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของ Class ความสะอาดของลมอัดที่แนะนำสำหรับอุตสาหกรรมอาหารและยา ตามมาตรฐาน ISO8573-1:2010 ซึ่งโดยปกติแล้ว Class ที่แนะนำสำหรับอุตสาหกรรมประเภทนี้จะยังมี Class 1:1:1 และ 1:3:1 ที่จะแตกต่างกันที่ปริมาณน้ำมันที่ยอมรับได้ แต่จะสังเกตได้ว่าเมื่อพูดถึงปริมาณฝุ่นละอองแล้ว ทุก Class แนะนำจะระบุค่าเอาไว้ที่ Class 1 ซึ่งเป็น Class ที่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทนี้ดังตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้น
ฝุ่นในระบบลมอัดเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
ปัจจัยแรกที่เป็นที่มาของฝุ่นในไลน์ผลิต คือฝุ่นที่ลอยอยู่ในอากาศโดยรอบบริเวนของปั๊มลมที่กำลังทำงานอยู่ จะถูกดึงเข้ามาเพื่อทำให้เกิดแรงดัน ส่งต่อไปยังถังพักลม ก่อนนำไปใช้งาน และ ทำให้เมื่อเราต้องการลมอัดไปใช้งานในส่วนต่างๆของโรงงาน ก็จะต้องมีการกรองสิ่งต่างๆออกจากลมอัด ไม่ว่าจะเป็น น้ำ น้ำมัน ฝุ่น ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าระบบต่างๆ ตั้งแต่ต้นกระบวนการที่กล่าวมาคุณภาพไม่ดีพอ ก็จะสามารถทำให้ฝุ่น หรือ อนุภาคต่างๆ หลุดเข้าไปในไลน์ผลิต และไปสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ยา อาหาร หรือเวชสำอางได้
ปัจจัยต่อมาคือ ตัวเครื่องจักร หรืออุปกรณ์ ในระบบลมอัดเองที่เป็นตัวปัญหา ด้วยสาเหตุของ การเสื่อมสภาพของเครื่องปั๊มลม (Air Compressor) อุปกรณ์ปรับสภาพลมต่างๆ เช่น เครื่องทำลมแห้ง (Air Dryer), ถังพักลม (Air Tank), ท่อลม (Air Pipe) รวมถึง ตัวกรองอากาศ(Air Filter) และอุปกรณ์ในกระบวนการผลิตที่จำเป็นในอุตสาหกรรมนั้นๆ ตัวอย่างเช่น
- ตัวปั๊มลม เมื่อมีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานาน จะมีการสึกหรอของชิ้นส่วนต่างๆภายใน ซึ่งอาจมีเศษชิ้นส่วนขนาดเล็กหลุดเข้าไปในไลน์ผลิตได้
- ถังพักลม และท่อลม เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่มีการเสื่อมสภาพจากการใช้งาน การสึกกร่อนเป็นสนิม หรือตะกรัน สามารถหลุดเข้าไปในไลน์ผลิตได้
- ตัวกรองอากาศ หรือ Air Filter มีการเสื่อมสภาพของตัวกรอง หมดอายุการใช้งานทำให้ไม่สามารถกรองกักเก็บฝุ่นไว้ได้ ทำให้ฝุ่นและอนุภาคต่างๆหลุดเข้าไปในระบบผลิตได้เช่นกัน
แน่นอนว่าปัจจัยที่กล่าวมานั้น ส่งผลทำให้ฝุ่นสามารถหลุดเข้าไปในไลน์ผลิตปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ได้ และเมื่อใช้งานเป็นเวลานาน ฝุ่นจะเกิดการสะสมอุดตัน ทำให้อุปกรณ์ต่างๆในไลน์ผลิตเสื่อมคุณภาพ และ เสียหายได้ด้วยเช่นกัน
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ระบบลมอัดที่ใช้ในไลน์ผลิตของเรา ปราศจาก “ฝุ่น”
หากผลิตภัณฑ์ยา อาหาร เวชสำอาง มีฝุ่นปนเปื่อนจากขั้นตอนการผลิต นั่นหมายความว่าโรงงานนั้นอาจมีมาตรฐานการตรวจสอบที่บกพร่อง คุณภาพลมอัดที่ใช้ยังไม่สะอาดบริสุทธิ์ และ ความสูญเสียต่างๆ ก็จะตามมาเช่นกัน แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่ามีฝุ่นหลุดออกมาในไลด์ผลิต?
โดยทั้วไปเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจวัดฝุ่นนั้น นอกจากจะต้องเป็นเครื่องมือวัดเฉพาะทางแล้วยังต้องสามารถรองรับมาตรฐาน ISO 8573-1 และตัวเครื่องมือ ต้องมีการสอบเทียบ ตามข้อกำหนดของ ISO 9001 เพื่อความแม่นยำในการตรวจวัดอนุภาค
การใช้เครื่องนับอนุภาค ควรเลือกจุดที่เหมาะสมของระบบอัดอากาศในไลน์ผลิต และต้องติดตั้งเครื่องลดแรงดันก่อนเข้าไปยังเครื่องนับอนุภาค (เพื่อลดแรงดัน และ ป้องกันความเสียหายกับตัวเครื่องนับอนุภาค) เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว เครื่องนับอนุภาคจะทำการนับด้วยระบบเลเซอร์วัดแบบเรียลไทม์จากการไหลผ่านของลมอัด เพื่อนับจำนวนฝุ่นและแยกค่าขนาดของฝุ่น สามารถคำนวณ และรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพลมอัดในไลน์ผลิตได้ตาม Class 1
จากรูปผลที่ได้จากการตรวจวัดคุณภาพอากาศอัด แสดงค่าให้เห็นว่า จำนวนอนุภาคเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด Class 1 คือ จำนวนฝุ่นขนาด 0.1μm มีจำนวน มากกว่า 20000 อนุภาค
การแก้ไขปัญหาฝุ่นในระบบลมอัด
เมื่อเราพบฝุ่นจากตัวรายงานการตรวจวัดคุณภาพลมอัดแล้ว และไม่เป็นไปตามค่ามาตรฐาน ISO 8573-1 เราก็ต้องกลับมาดูแนวทางการปรับปรุงคุณภาพลมอัดในไลน์ผลิต ตั้งแต่ต้นกำลังจนถึงจุดใช้งานที่ลมอัดจะไปสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ สิ่งที่ควรคำนึงคือ
สรุป
“ฝุ่น” ในระบบอากาศอัดในไลน์ผลิต จากที่กล่าวมา เราคงเห็นอันตรายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมีผลกระทบกับสิ่งมีชีวิต หรือในภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ระบบอากาศอัดที่มีคุณภาพสูงระดับการผลิตอาหารและยา ควรบริหารจัดการตามมาตรฐานที่ถูกต้อง จะทำให้ได้อากาศอัดที่สะอาดไปใช้งาน เพื่อให้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพต่างๆ และ ควรหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ว่ายังคงสภาพการใช้งานที่ดี ทำการตรวจวัดคุณภาพลมทุกปี เท่านี้คุณก็จะได้อากาศอัดที่สะอาดไปใช้งานโดยไม่ต้องกังวลแล้ว